โคเออร์แม่สอดติดตามโครงการฝึกอาชีพเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมกลับสู่มาตุภูมิ

   ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 โคเออร์แม่สอดได้ดำเนินโครงการฝึกอาชีพให้กับเยาวชนที่มีความสนใจแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ ด้วยการจัดอบรมหลักสูตรเร่งรัดใน 3 วิชาชีพได้แก่ เกษตรอินทรีย์ การแปรรูปและถนอมอาหาร ตลอดจนการผลิตเครื่องอุปโภคที่จำเป็นต่อสุขอนามัย ได้แก่ สบู่ น้ำยาสระผมสมุนไพร และน้ำยาอเนกประสงค์สำหรับซักผ้าล้างจาน เป็นต้น

   นอกจากให้การอบรมให้มีความรู้แล้ว ยังได้สนับสนุนให้ผู้เข้าอบรม นำความรู้มาใช้ในชีวิตจริง คือสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มประกอบอาชีพตามความสนใจ โดยโคเออร์สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ส่วนหนึ่งเป็นทุนเริ่มต้น เช่น กลุ่มเกษตรกรซึ่งมีอยู่จำนวน 45 คน ได้แก่ จำนวน 15 คนที่แม่หละ จำนวน 15 คนที่ อุ้มเปี้ยม และอีกจำนวน 45 คนที่นุโพได้รับ เมล็ดพันธุ์ผักหลากหลายชนิด และอุปกรณ์ทำการเกษตร เช่น บัวรดน้ำ ตาข่าย จอบ คราด ถังน้ำ สายยาง ตาข่ายพรางแสง เป็นต้น เพื่อให้สามารถเริ่มต้นเพาะปลูกพืชผักสำหรับเป็นอาหารเลี้ยงครัวเรือน และในจำนวนนี้ บางคนก็สามารถปลูกได้มากพอที่จะจำหน่ายสร้างรายได้และแบ่งปันให้ผู้ยากไร้อีกด้วย

   สำหรับกลุ่มกิจกรรมแปรรูปและถนอมอาหาร ซึ่งมีเยาวชนเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนรวม 23 คนนั้น มีผู้สนใจประกอบอาชีพจำนวน 12 คน ประกอบด้วยเยาวชนบ้านแม่หละจำนวน 4 คน บ้านอุ้มเปี้ยมจำนวน 3 คน และ บ้านนุโพ จำนวน 5 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบ เครื่องปรุง ตลอดจนเครื่องครัว ได้แก่ หม้อ กระทะ มีด ฯลฯ สำหรับประกอบอาหาร โดยอาหารที่กลุ่มเยาวชนสนใจผลิตขึ้นจำหน่าย ได้แก่ กล้วยฉาบ กล้วยกวน มันฝรั่งทอด ไข่เค็ม น้ำพริกกะเหรี่ยง ฯลฯ

   ส่วนกลุ่มกิจกรรมเรียนรู้การผลิตสบู่และน้ำยาอเนกประสงค์ มีเยาวชนเข้ารับการอบรมจำนวน 30 คน ซึ่งจำนวนนี้ มีผู้ที่สนใจประกอบอาชีพจำนวน 16 คน เป็นเยาวชนบ้านแม่หละ 4 คน บ้านอุ้มเปี้ยม จำนวน 4 คน และ บ้านนุโพ จำนวน 8 คน ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ได้รับวัตถุดิบและภาชนะอุปกรณ์การผลิตจาก โคเออร์ ให้ใช้ดำเนินการประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตัว

   ในเดือนมกราคม 2563 มีการติดตามผลความก้าวหน้าของกิจกรรมทั้งหมด พบว่าผู้ร่วมโครงการมีความรู้มากขึ้น มีอาหารรับประทานหลากหลาย มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น มีการแบ่งปันอาหารให้กับเพื่อนบ้านและผู้ที่ขาดแคลน ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนดีขึ้น มีการขายผลผลิต ส่งผลให้เกิดรายได้ในครัวเรือน เกิดเงินออม ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ให้เกิดการพึ่งพาตนเองในระหว่างเตรียมความพร้อมก่อนกลับสู่มาตุภูมิ

แปลงเกษตรอินทรีย์ในโครงการฝึกอาชีพ

ผลผลิตในโครงการแปรรูปและถนอมอาหาร

ผลิตสบู่และน้ำยาอเนกประสงค์ เพื่อการซักผ้า ล้างจาน และยาสระผมสมุนไพร